“ข้าวแต๋นน้ำแตงโม” ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านหนองปริง ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง |
|
|
วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านหนองปริง ความเป็นมา วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านหนองปริง จังหวัดพัทลุง จัดตั้งกลุ่มเมื่อเดือนเมษายน 2546 มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 13 คน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2547 ปัจจุบันสมาชิกทั้งหมด 31 คน โดยครั้งแรกเริ่มจากการมีเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลเข้ามาแนะนำให้ทำน้ำยาล้างจานไว้ใช้ในครัวเรือน ต่อมาได้ปรึกษากับสมาชิกกลุ่มแม่บ้านให้ทำขนมขี้มอดคั่วและขนมทองม้วน ปรากฏว่ามีรสชาติดีเป็นที่ยอมรับของลูกค้า หลังจากนั้น ก็ได้สูตรข้าวแต๋นน้ำแตงโมจากเจ้าหน้าที่เคหะกิจของอำเภอเป็นวิทยากรในการสอนและคิดสูตรในช่วงแรก มีการลองทำดูและได้ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แล้วนำออกจำหน่ายตามร้านค้าในหมู่บ้าน และได้ออกจำหน่ายตามต่างจังหวัด จนปัจจุบันนี้เป็นที่รู้จักกันทั่ว และลูกค้าก็มาซื้อเองที่กลุ่ม การบริหารกลุ่ม มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่ม จำนวน 11 คน ดังนี้ 1. นางหมิก เรืองรักษ์ ประธานกรรมการ 2. นางเพรียง มุขตา รองประธาน 3. นางสมจิตร ไหมอ่อน เลขานุการ 4. นางวิไล ชูเกลี้ยง เหรัญญิก (จัดทำบัญชี) 5. นางหนูนิล มุขตา กรรมการ 6. นางวิไล เพิ่มบุญ กรรมการฝ่ายการตลาด 7. นายประทีป สุภาพาส กรรมการ 8. นางประคอง ศรีโสภณ กรรมการ 9. นางปวีณา แขกกาฬ กรรมการ 10. นายพิณ เรืองรักษ์ กรรมการที่ปรึกษา 11. นางสุดใจ เกลี้ยงสง กรรมการที่ปรึกษา - ปัจจุบันสมาชิกทั้งหมด 31 คน (สมาชิกแรกตั้ง 13 คน) วัตถุประสงค์ของกลุ่ม คือ 1. การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 2. การสร้างความรัก ความสามัคคีระหว่างสมาชิกและชุมชน 3. ให้ราษฎรในหมู่บ้านได้มีงานทำ 4. เพื่อให้ชุมชนรู้จักและบริหารธุรกิจทางด้านการเกษตร 5. เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง 6. สร้างรายได้ และมีอาชีพเสริมให้คนในชุมชน 7. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกในกลุ่มได้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อประกอบธุรกิจ 8. เพื่อส่งเสริมระบบธุรกิจชุมชน โดยการสร้างรายได้จากการดำเนินงานธุรกิจของกลุ่ม ส่วนผสม ข้าวแต๋นน้ำแตงโม มีดังนี้ -ข้าวสารเหนียว -แตงโม -งาขาว -เกลือป่น -น้ำตาลปี๊บ -น้ำอ้อยผง -น้ำมันพืช อุปกรณ์ แบบพิมพ์ ทำจากไม้ไผ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 นิ้ว สูง 1 เซนติเมตร วิธีทำ 1.นำ แตงโม 1 ลูก มาคั้นเอาแต่น้ำ แล้วนำไปผสมน้ำเปล่าให้ได้ 4 แก้ว ใส่เกลือ น้ำอ้อยผง งาขาว(ถ้ามี) คนให้เข้ากัน เก็บใส่ภาชนะไว้ (ควรทำก่อนนี่งข้าว) 2.นำข้าวสาร(ข้าวเหนียว) มาแช่น้ำ 1 คืน นึ่งให้สุก พักไว้ให้เย็น แล้วนำมาคลุกกับ น้ำแตงโมที่เตรียมไว้แล้ว ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที 3.น้ำไปกดลงในพิมพ์ ให้แน่นพอสมควร 4.นำข้าวออกจากพิมพ์ วางบนตะแกรง แล้วนำไปตากแดด ประมาณ 1 วันครึ่ง เมื่อแห้งแล้ว เก็บใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่น 5.ใส่น้ำมันพืชให้เต็มกระทะ ตั้งไฟให้ร้อนจัด เอาข้าวที่จากแห้งแล้วลงทอด ประมาณ 40 วินาที ข้าวแต๋นจะลอยขึ้น ให้ตักออก นำมาวางบนตะแกรง เพื่อสะเด็ดน้ำมัน และพักไว้ให้เย็น 6.นำน้ำตาลปี๊บ เคียวไฟให้ตกทราย พักไว้ให้เย็นพอประมาณ แล้วนำมาหยดลงบนข้าว 7.ใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่อาหาร ขนาดที่ต้องการบรรจุขาย ถ้าจะให้ดี ปิดปากถุงให้มิดชิด กันลมเข้า วิธีง่ายๆ ไล่ลมออกจากถุง แล้วใช้เครื่องรีดปากถุง ข้าวแต๋นน้ำแตงโมขนมไทยพื้นบ้านจะมีรสชาติอร่อย สะอาด การจัดบรรจุใส่ถุงที่สวยงาม เพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อสนใจมาอุดหนุนมากขึ้น ซึ่งข้าวแตนน้ำแตงโมที่บรรจุในถุงพลาสติกนั้นจะพิมพ์ชื่อกลุ่ม วันเดือนปีที่ผลิต ราคา ถุง |
“ป้าเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่งพอเสร็จจากงานกรีดยางช่วงกลางวัน ก็ทำขนมโบราณขาย ช่วงแรกทำคนเดียวขายคนเดียว แต่พอเห็นว่าสินค้าขายได้ ปี 2546 ก็เริ่มชักชวนเด็กนักเรียน แม่บ้านที่ว่างจากงานมารวมกลุ่ม ทำขนมต่างๆ ขายหารายได้พิเศษกัน ซึ่งก็ขายได้ดี แต่ระยะหลังมีคนทำกันเยอะขึ้นทำให้ต้องเหนื่อยกับการหาตลาด คิดอยากหาสินค้าชนิดใหม่ ที่ ในท้องถิ่นยังไม่มีใครทำ ประจวบช่วงนั้นชมรมเคหกิจ - เกษตร เข้ามาแนะนำอบรมวิธี “ข้าวแต๋นน้ำแตงโม” ป้าเห็นว่าเป็นของใหม่ที่ยังไม่มีใครเขาทำกันเลยตัดสินใจลงมือทำ” นางนิก เล่าจุดเริ่มต้น “ข้าวแต๋นน้ำแตงโม” ของแม่บ้านกลุ่มนี้ จุดเด่นอยู่ที่รสชาติอร่อยที่ไม่เหมือนใคร มีทั้งความหอม มัน กรอบนุ่ม อีกทั้ง กลิ่นหอมหวนของน้ำอ้อยสดผสมสีแดงจากน้ำแตงโม ซึ่งกว่าจะได้สูตรที่ลงตัวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงช่วงข้ามวัน ต้องใช้เวลาในการคิดค้นทั้งตามตำรา และพลิกแพลงเอาเอง ลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน กินได้บ้างไม่ได้บ้าง ช่วยกันคิดช่วยกันทำ จนได้รสชาติ และสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง |
ขั้นตอนนำน้ำอ้อยสดมาคลุกเคล้ากับข้าวเหนียวสุกผสมน้ำแตงโม
“การทำข้าวแต๋นน้ำแตงโมให้อร่อยนั้น ข้าวเหนียวนึ่งจะต้องไม่ให้นิ่มหรือแข็งจนเกินไป ส่วนใหญ่นิยมเอาน้ำอ้อยไปเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บแล้วค่อยเอามาราดหน้า แต่ของเราใช้น้ำอ้อยสดมาคลุกเคล้ากับข้าวเหนียวสุกผสมน้ำแตงโมก่อนนำไปอัดลงบนแม่พิมพ์เพื่อให้น้ำอ้อยเกาะข้าวเหนียวทั่วทุกเม็ด แล้วค่อยราดหน้าด้วยน้ำตาลบปี๊บเคี่ยว เวลารับประทานจะได้ทั้งกลิ่นและรสชาติของน้ำอ้อย น้ำแตงโม จากข้าวเหนียว” นางมิก อธิบายเคล็ดลับ |
เนื่องจากเป็นเจ้าแรกในท้องถิ่น อีกทั้ง รสชาติเป็นที่ถูกใจผู้บริโภค ส่งผลให้สินค้าค่อยๆ สร้างชื่อ ได้ผลตอบรับดีขึ้นต่อเนื่อง จากระยะแรกที่เคยขายได้แค่ 300 บาทต่อเดือน ปัจจุบันกระโดดขึ้นมาเป็นเดือนละกว่า 300,000 แสนบาท ถือได้ว่าเป็นเจ้าดังประจำ จ.พัทลุง และเป็นสินค้าของฝากที่นักท่องเที่ยวมาเยือนต้องซื้อกลับไป ซึ่งรายได้ที่เข้ามาช่วยให้สมาชิกกลุ่มกว่า 30 คน พลอยอยู่ดีกินดีตามไปด้วย มีรายได้เฉลี่ยจากอาชีพนี้ต่อคนต่อเดือนราว 5,000-6,000 บาท |
สำหรับขั้นตอนและวิธีการทำ เริ่มจากเตรียมน้ำแตงโม คั้นเอาเฉพาะน้ำ ตวงข้าวเหนียวตามปริมาณที่ต้องการนำไปล้างด้วยนำสะอาด จากนั้นนำไปแช่ด้วยน้ำแตงไปทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง ก่อนนำมานึ่งจนข้าวสุก อย่าให้เปียกหรือแข็งจนเกินไป ตักใส่ภาชนะ เติมน้ำแตงโมต้มสุกกับน้ำอ้อยสดลงไป ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล เล็กน้อยคลุกเคล้าให้เข้ากันจนได้ที่ นำไปอัดลงบนแม่พิมพ์ตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง หรือเข้าตู้อบไฟฟ้าตั้งความร้อนที่ 150 องศา นาน 2 ชั่วโมง จึงนำมาทอดในกระทะน้ำมันใช้ไฟปานกลาง พลิกไปมาให้เม็ดข้าวพองและสุกจนทั่วแผ่นจึงยกขึ้น แล้วนำไปราดหน้าด้วย น้ำตาลปี๊บเคี่ยว ส่วนหน้าธัญพืชราดด้วยงาขาว งาดำ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ วางไว้จนอุณหภูมิเย็น ก่อนแพ็กลงบรรจุภัณฑ์วางจำหน่าย |
นางนิก เผยว่า หัวใจที่ทำให้สินค้าได้รับความนิยม นอกเหนือความอร่อยแล้ว ต้องเน้นเรื่องคุณภาพและความสะอาด เลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสดใหม่ ผลิตวันต่อวัน แถมยังขายในราคาเหมาะสม เริ่มตั้งแต่ห่อละ 7 บาท จนถึง 25 บาท มีให้เลือกถึง 3 รสชาติ ได้แก่ ธัญพืช หวาน และเค็ม พร้อมการันตีคุณภาพสินค้าด้วยเครื่องหมายฮาลาล มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) โอทอป 4 ดาว และผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) |